เชื้ออีโคไล เต็มแม่น้ำแซน ขณะที่ โอลิมปิก 2024 ใกล้เริ่มแล้ว
ฝรั่งเศส เจ้าภาพโอลิมปิก 2024 กำลังเจอปัญหาใหญ่ หลัง “แม่น้ำแซน” แลนด์มาร์กสำคัญที่ไหลผ่านกรุงปารีสและถูกวางให้เป็นสถานที่หลักการแข่งขันกีฬาทางน้ำ และอีกจุดไฮไลต์ของพิธีเปิด ตรวจพบระดับความเข้มข้นของ แบคทีเรียอีโคไล ซึ่งพบในอุจจาระ สูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
ขณะที่หน่วยงานในปารีสที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงกำลังเร่งมือทำความสะอาดแม่น้ำแซนให้กลับมาอยู่ในระดับ “ปลอดภัย” เพื่อให้ทันต่อพิธีเปิด โอลิมปิก 2024 ในวันที่ 26 ก.ค.ที่จะถึงนี้
เชื้ออีโคไล และความกังวลของนักกีฬาทางน้ำ
อนา มาร์เซลา กุนยา ชาวบราซิล เจ้าของเหรียญทองการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ในการแข่งขันว่ายน้ำมาราธอน 10 กิโลเมตรหญิง กล่าวอย่างเป็นกังวลว่า “แม่น้ำแห่งนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับว่ายน้ำ”
คริสเตียน บลุมเมนเฟลต์ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2020 ชาวนอร์เวย์ ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า “ผมมักว่ายน้ำโดยอ้าปากค้างไว้เสมอ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องตลก หากตื่นเช้าขึ้นมาแล้วพบว่าตัวเองเป็นอะไรไปแล้วก็ไม่รู้”
อีโคไล คือ แบคทีเรียชนิดหนึ่ง พบได้ในลําไส้ของคนและสัตว์เลือดอุ่น โดยปกติจะไม่เป็นอันตรายหรือก่อโรคร้ายแรง เมื่ออยู่ในลําไส้จะช่วยย่อยอาหารที่เรารับประทานเข้าไป แต่หากเชื้ออีโคไลลุกล้ำเข้าสู่ระบบต่างๆ ของร่างกายก็จะทําให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรง เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น และมีเชื้ออีโคไลบางสายพันธุ์ที่ทําให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ โดยการปนเปื้อนของเชื้อในอาหารหรือน้ำดื่ม
ทั้งนี้ เชื้ออีโคไล ที่สามารถก่อโรคอุจจาระร่วง จะมีกลไกการก่อโรคและสามารถสร้างสารพิษได้แตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ เช่น เชื้อ Enterotoxigenic E. coli ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่สร้างสารพิษ Enterotoxin ทําให้เกิดอาการท้องร่วงแบบเฉียบพลัน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ หรือเชื้อ Enterohaemorrhagic E. coli ที่สร้างสารพิษ Shiga ทําให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง ถ่ายเป็นมูกเลือด ก่อให้เกิดกลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตกและไตวายเฉียบพลัน
เชื้ออีโคไล ติดต่อจากคนสู่คนอย่างไร
โดยปกติแล้ว เชื้ออีโคไล จะอาศัยอยู่ในลําไส้ของคนและยังอาศัยอยู่ในสัตว์ ดังนั้น เชื้อจะถูกขับผ่านออกมากับอุจจาระ หากสัตว์หรือคนถ่ายอุจจาระลงดินหรือแหล่งน้ำ ซึ่งใช้เป็นแหล่งเพาะปลูกหรืออุปโภค บริโภค เชื้อที่ปนเปื้อนไปกับผลผลิตและน้ำดื่มจะเข้าสู่ร่างกายคนโดยการรับประทาน
นอกจากนี้ เชื้อยังสามารถติดต่อจากผู้ป่วยสู่คนอื่นได้โดยตรง แต่โดยปกติแล้วเชื้ออีโคไลจะไม่แพร่จากคนสู่คนผ่านทางการไอ การจูบ หรือการสัมผัสกันตามปกติระหว่างเพื่อนหรือคนในครอบครัว
ติดเชื้ออีโคไล อาการ
มีตั้งแต่ไม่แสดงอาการจนถึงอาการรุนแรง บางรายถ่ายเหลวเป็นน้ำ บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ต่ำร่วมด้วย และอาจรุนแรงถึงขั้นมีอาการปวดบิด ถ่ายเป็นมูกเลือดและมีอาการแทรกซ้อน คือ เกิดกลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตกและไตวาย ทั้งนี้อาการรุนแรงต่างๆ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนที่ได้รับเชื้อ ปัจจัยในการก่อโรคและปริมาณของเชื้อที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย
“ความสะอาดคือหัวใจสำคัญของการป้องกัน” แนะนำ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนรับประทานอาหาร และก่อนปรุงอาหาร หรือ สัมผัสสัตว์ ถ่ายอุจจาระลงในห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ทิ้งอุจจาระหรือสิ่งปฏิกูลลงในแหล่งน้ำและที่สําคัญ ดื่มน้ำและรับประทาน อาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ๆ
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการว่ายน้ำ หากต้องลงสระสาธารณะ เช่น สระว่ายน้ำคอนโด สระว่ายน้ำโรงแรม ฯลฯ ให้ระวังการสำลักหรือกลืนน้ำในสระ เพราะอาจเสี่ยงต่อการนำเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้